9 ก.ย. 61 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเพจ Abhisit Vejjajiva ระบุว่า ประชาธิปัตย์ยุคใหม่กับการเลือกหัวหน้าพรรคโดยสมาชิก
ช่วงนี้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้น จึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายที่มาที่ไปของเรื่องนี้ครับ
ผมเคยประกาศแนวคิดที่จะให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเลือกหัวหน้าพรรค ตั้งแต่เดือนเมษายนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่” พร้อมกับเป็นการยืนยันความเป็นสถาบันการเมืองของพรรคในระบบประชาธิปไตยของไทย ความเป็นประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นตั้งแต่ภายในพรรค พรรคการเมืองต้องไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ พรรคประชาธิปัตย์พิสูจน์เรื่องนี้มากว่า ๗๐ ปี จึงยืนหยัดมาได้ เราเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีการแข่งขันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอย่างจริงจังมาหลายครั้ง ปัจจุบันข้อบังคับของพรรคกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. และประธานสาขาพรรคเป็นหลัก เป็นผู้มีสิทธิเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งก็สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ที่ออกมาอยู่แล้ว แต่ผมมองว่าประชาธิปัตย์สามารถเป็นผู้นำและมีความก้าวหน้ากว่านี้ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันทำให้มีเหตุผลเพิ่มเติมคือ
• การปฏิรูปการเมืองที่ดำเนินการโดย คสช. ในเรื่องนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ความพยายามที่จะให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ เช่น การหยั่งเสียงเบื้องต้นเพื่อคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. กำลังจะวนกลับไปสู่ที่เดิม ขณะที่การแสดงตัวเป็น “เจ้าของ” ของพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งใหม่และเก่าก็ยังชัดเจน
• คำสั่ง คสช.ที่ ๕๓/๒๕๖๐ มีผลให้สาขาพรรคกว่า ๑๕๐ สาขาทั่วประเทศถูกยุบ ทำให้องค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ขาดความหลากหลายและความเป็นประชาธิปไตย
• สี่ปีที่ไม่มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกและในประเทศ เกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว ทำให้มีความจำเป็นที่จะให้สมาชิกพรรคและประชาชนในวงกว้างเข้ามามีส่วนร่วม มากกว่าการปล่อยให้การกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางของพรรค จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มอดีต ส.ส.และผู้บริหารพรรคในปัจจุบัน
• ในอดีตเราไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างนี้ได้ แต่ในปัจจุบันการลงคะแนนผ่านโทรศัพท์มือถือทำได้ไม่ยากแล้ว การหยั่งเสียงเลือกตั้งครั้งนี้พรรคจะให้สามารถทำได้โดยใช้แอปพลิเคชันผ่านทางโทรศัพท์ได้
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ของประชาธิปัตย์ จึงเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของระบบการเมืองไทย ซึ่งผมหวังว่ากระบวนการนี้จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ การแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง เพราะหากมองเช่นนั้นเท่ากับเป็นการไม่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยในพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม โดยที่กฎหมายพรรคการเมืองยังไม่ได้รองรับเรื่องนี้ไว้ พรรคประชาธิปัตย์จึงจำเป็นจะต้องแก้ไขข้อบังคับให้ที่ประชุมใหญ่ของพรรคซึ่งกฎหมายยังกำหนดให้เป็นผู้เลือกหัวหน้าพรรค จะต้องรับฟังผลของการหยั่งเสียงจากสมาชิก ซึ่งผมมั่นใจว่าที่ประชุมใหญ่จะทำเช่นนั้น
สำหรับกรอบเวลาการดำเนินการในเรื่องนี้จะเป็นไปตามแผนภาพข้างล่างนี้ ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับวิธีการนั้นจะได้เล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ.
Post A Comment: