10 ก.ย.61 - ที่ห้องประชุมชั้น3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการเสวนาเรื่อง "อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง" จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน
งานเสวนานี้ มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมเสวนาด้วย
นายจาตุรนต์ กล่าวช่วงหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญนี้ ไม่เป็นประชาธิปไตย แม้ผ่านประชามติก็เป็นประชามติ เรายอมรับผลประชามติ ในอนาคตเราจะแก้รัฐธรรมนูญ จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เราจะไม่เป็นต้นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย แต่ถ้ามีเงื่อนไข ถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้จะวุ่นวาย เชื่อว่าไม่วุ่นวาย ใครได้เสียงข้างมากก็ต้องรัฐบาลไป ถ้าไม่ตรงกับอุดมการณ์เรา ก็ไปเป็นฝ่ายค้าน หากเป็นรัฐบาลไม่มีฝ่ายค้าน ไม่ถูกต้อง
"การไปร่วมๆกันให้มีแต่รัฐบาล ไม่มี เราจะเป็นฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ ผมไม่ได้พูดเอง แม้จะมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จุดยืนไม่ร่วมผู้นำคสช.สืบทอดอำนาจ จุดยืนก็ยังเป็นเช่นนี้"นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่าหนทางที่จะทำให้ตันหรือไม่ตัน ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย ที่จะไปเป็นเงื่อนไข แต่ถ้าพรรคไหนได้รับเสียงข้างมากเกิน250เสียงได้จัดตั้งรัฐบาล คนในพรรคนั้นได้เป็นนายกฯ แต่สิ่งนี้เป็นหลัการในรัฐธรรมนูญเก่า วันนี้ไม่ใช่แบบนั้น ไม่ว่าใครจะได้รับเลือกมาที่เท่าไหร่ หากรวบรวมเสียงได้มากกว่า ก็มีสิทธิ์เป็นนายกฯ ปัญหายังอยู่ที่รัฐธรรมนูญต้องแก้ ถ้าไม่แก้ ประเทศไปต่อยาก
เขา กล่าวว่าปัญหาวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมาแก้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นความแตกต่างของ2ระบบ คสช.ใช้ความคิดตัวเองเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือให้อีกพรรคมาแก้รัฐธรรมนูญให้ดีขึ้น เป็นทางแพร่ง 2 ทางที่สังคมไทยต้องเลือก ไม่ใช่แค่ใครจะมีเสียงเป็นที่หนึ่งหรือสอง แต่ปัญหาคือรัฐธรรมนูญ
"พรรคเพื่อไทยไม่ควรตัดสินใจแต่เนิ่นๆที่จะปิดทาง ในการร่วมมือกับพรรคการเมืองใด แต่พรรคนั้นต้องไม่สนับสนุนผู้นำคสช. ไม่เอานายกฯคนนอก ถ้าทั้งพรรคเพื่อไทย หรือ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ร่วมรัฐบาล ยินดีเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน โดยผมยินดีที่จะเป็นวิปฝ่ายค้านร่วมกับคุณจุรินทร์ด้วย"
ขณะที่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคไหนจะไปร่วมกับใคร ผลการเลือกตั้งมีส่วนสำคัญ เพราะประชาชนจะเป็นคนบอกว่าจะให้พรรคใดด้วยจำนวนเสียงเท่าไหร่ สำหรับสถานการณ์ภายในพรรคนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามที่คสช.บังคับจะให้เป็น กล่าวคือ พรรคการเมืองเดิมต้องเขียนอุดมการณ์ เขียนนโยบาย ข้อบังคับที่สอดคล้องกับกฎหมายลูก เลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ส่วนจะเลือกใครมา ก็มีการแข่งขันกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่การแก่งแย่ง แตกแยกกัน เป็นวิถีประชาธิปไตยปกติ
เมื่อถามจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการเข้าร่วมรัฐบาล นายจุรินทร์ กล่าวว่า หลักคือพรรคใดรวบรวมเสียงข้างมากได้ก็ไปตั้งรัฐบาล แต่ทั้งนี้ต้องดูอุดมการณ์ เสียงประชาชนให้มาเท่าไหร่ ก็จะเป็นคำตอบ ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่.
Post A Comment: