จากกรณีที่ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่า กรมอนามัยโลกได้เผยแพร่ข้อมูลการฆ่าตัวตายของประเทศไทยว่าสูงถึง 16 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 60-64 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายมากถึง 9-10 คนต่อประชากรแสนคนนั้น
นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุฆ่าตัวตายมีการพูดคุยกันอยู่ตลอด ผส.เห็นความสำคัญของเรื่องนี้เป็นอันดับ 1 เพราะไม่ใช่ดูแลเพียงแค่ร่างกาย แต่ต้องดูแลทางด้านจิตใจด้วย ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 16.5 หรือประมาณ 10.8 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน โดยประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 โดยเป็นผู้สูงอายุที่ยังไปไหนมาไหนได้ หรือผู้สูงอายุติดสังคม ร้อยละ 78 หรือ 8 ล้านคน ผู้สูงอายุติดบ้าน 2 ล้านคน และผู้สูงอายุติดเตียง 200,000 คน
“จากตัวเลขผู้สูงอายุ 2 ล้านคนที่อยู่ติดบ้าน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรคซึมเศร้าและตัดสินใจฆ่าตัวตาย ซึ่ง ผส.ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ สถานที่ให้ผู้สูงวัยมาพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน โดยจัดให้มีการอบรมด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพ การดูแลตัวเอง เศรษฐกิจและวิชาชีพ กระทั่งผู้สูงอายุบางคนต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือโอท็อปได้” นางธนาภรณ์กล่าว และว่า
พม.ยังได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) เพื่อการส่งเสริม การดูแล และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเมื่อปี 2557 ก่อตั้งในทุกอำเภอ 878 แห่ง และปี 2561 ก่อตั้งอีก 400 แห่ง ปัจจุบันมี 1,200 แห่ง จากกิจกรรมดังกล่าว สามารถดึงผู้สูงอายุให้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอกได้ รวมทั้งยังดึงผู้สูงอายุติดบ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยงออกมานอกบ้านได้อีกด้วย
“สำหรับผู้สูงอายุติดเตียง ปัจจุบันกรมอนามัยได้จัดให้นักบริบาลชุมชน หรือแคร์กิฟเวอร์ เข้าไปดูแลตามชุมชนต่างๆ รวมถึงยังมีกลุ่มอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (อผส.) 5,000 คนทั่วประเทศ เข้าไปดูแลด้วย แต่หลังจากนี้จะมีการกระจายลงไปสู่ท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ พม.ได้นำร่องทำธนาคารเวลา 44 แห่ง ทั้ง อบต. และเทศบาล สำหรับกลุ่มอาสาสมัครลงไปดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ซึ่งผู้ที่ลงไปให้บริการจะได้แต้มสะสมเพื่อนำมาใช้เมื่ออายุมากขึ้น ก็จะมีผู้มาดูแลตามจำนวนแต้มที่เก็บไว้ โดยจะประเมินผลการดำเนินงานในตุลาคมนี้”
นางธนาภรณ์ยังกล่าวอีกว่า เพื่อความยั่งยืน พม.ให้ความสำคัญกับเรื่องอาชีพ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีอาชีพ ซึ่งเบี้ยยังชีพและเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อให้ผู้สูงอายุพออยู่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาผู้สูงอายุให้มีอาชีพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนไม่เป็นภาระของลูกหลานและสังคม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลผู้สูงอายุทั้งประเทศ จัดทำเป็นบิ๊กดาด้า หากทำเสร็จแล้วจะทำให้รัฐมองเห็นภาพรวมของปัญหา สามารถแก้ไขได้ตรงจุด อีกทั้งกำลังเสนอ ครม.ให้เรื่องผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ คาดว่าภายในปีนี้จะผลักดันสำเร็จ และหากประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้ว จะทำแผนผู้สูงอายุ 20 ปี ฉบับที่ 3 ปี 2565-2585.
ข่าวจาก ไทยโพสต์
Post A Comment: