กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ประเมินว่า ญี่ปุ่นต้องขึ้นภาษีผู้บริโภค หรือภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% รวมทั้งปฏิรูประบบประกันสุขภาพและระบบบำนาญ เพื่อรับมือสังคมผู้สูงอายุที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลสำหรับสวัสดิการสังคม
นายพอล คาชิน หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของ IMF ที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นระบุว่า ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูงมากถึงเกือบ 2 เท่าตัวขอ GDP และยังเผชิญกับภาวะที่ประชากรมากกว่า 1 ใน 4 เป็นผู้สูงอายุ ทำให้รัฐบาลมีความเสี่ยงสูงด้านภาระงบประมาณ
IMF แนะนำให้ญี่ปุ่นทยอยขึ้นภาษีผู้บริโภคระหว่างร้อยละ 0.5 ถึง 1 แต่ก็ย้ำด้วยว่าการขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม โดยต้องมีการปฏิรูประบบสวัสดิการด้วย
ตัวเลขภาษี 15% นี้สอดคล้องกับการประเมินขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ที่เคยระบุกับรัฐบาลญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การขึ้นภาษีถึงระดับนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในสภาวะทางเศรษฐกิจอันซบเซาของญี่ปุ่นในขณะนี้
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขึ้นภาษีผู้บริโภคเป็น 8% ในปี 2014 และรัฐบาลของนายกฯชินโซ อะเบะมีแผนที่จะขึ้นภาษีเป็น 10% ในปี 2017 แต่ได้เลื่อนออกไปเป็นปี 2019 เพราะเกรงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะยกเว้นการขึ้นภาษีสำหรับสินค้าบางอย่าง เช่น อาหารสด และของใช้จำเป็น แต่ทาง IMF ไม่เห็นด้วย โดยระบุว่าควรขึ้นภาษีทั้งหมดเป็นแบบแผนเดียวกัน
IMF ยังเน้นว่าญี่ปุ่นต้องลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการด้วย เช่น ขยายอายุในการสะสมเงินบำนาญ หรือในผู้ป่วยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น จากปัจุบันที่ผู้ป่วยรับภาระราวร้อยละ 30 ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่สรุปแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้.
ข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
Post A Comment: