"ตู่ จตุพร" เปลี่ยนไป!! ทำไมนปช.ต้องเปลี่ยนเวทีไปสู้กันในสภา


21 ต.ค.61 ที่ร้านกาแฟ พีซ คอฟฟี่ แอนด์ไลบรารี่ อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว ชั้น 5 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติ  กล่าวในงานกิจกรรมต่อลมหายใจให้พีซทีวี โดยอธิบายถึงการวางยุทธวิธีทางการเมืองจากนี้ไปว่า ก่อนการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม2557 ตนเป็นผู้กำหนดคนไปเจรจา หลายคนจึงตั้งข้อสงสัยและออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตนว่า ทำไมไม่วางคนนั้นไว้ที่เวที ทำไมไม่วางคนนี้ไว้ตรงนั้นตรงนี้ ตนจึงใช้วิธีนิ่งเฉยไม่ยอมอธิบายความ


นายจตุพร กล่าวว่า  ทั้งนี้ตนจะเล่าให้ฟังในวันนี้เพื่อจะได้คิดต่อไปว่า ตั้งแต่วันที่ 20, 21 และ 22 ในช่วงเช้าตนตระเวนรอบในที่ชุมนุมถนนอักษะ และทราบว่าถูกปิดล้อมทุกทิศทาง ผู้ร่วมชุมนุมเหลือน้อยกว่าวันที่ 19 พฤษภาคมปี 2553 และโดยสภาพพื้นที่นั้นไม่สามารถป้องกันชีวิตประชาชนได้ดังนั้นการตัดสินใจเอาบุคลที่สามารถยันเวทีได้ไปเป็นคู่เจรจากันนั้น เพราะเผื่อไว้ว่า หากผิดพลาดมาความตายก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะความตายเกิดขึ้นจากการสู้ การยื้อ และโดยสภาพการณ์ขณะนั้น ที่ตนได้ตระเวนดูมวลชนน้อยกว่าวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มาก จนไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
“แต่คนที่มาวิจารณ์ตนนั้น ไม่ได้มีโอกาสมาตระเวนดู ตนยืนอยู่หัวแถวรู้ดีว่า อะไรควรอะไรไม่ควร สมรภูมิการต่อสู้ทางการเมืองนั้น หากเราไม่ได้วิเคราะห์สถานการณ์แห่งความเป็นจริงนั้น เราจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ มาครั้งนี้ก็เช่นกัน ตนพยายามอธิบายให้ฟังมาหลายวันแล้วว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 นั้น มุ่งจัดการพรรคการเมืองขนาดใหญ่เพื่อไม่ต้องการให้เกิดปรากฏการณ์ได้ที่นั่งส.ส.ในสภาเกินกว่าครึ่งอีกต่อไป”นายจตุพร กล่าว
นายจตุพร กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบระบบบัตรใบเดียวนั้น การเลือกตั้งเมื่อ ปี 2554 ยกตัวอย่างพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.ในระบบเขต 204 เขต จากจำนวนเขตทั้งหมด 375 เขต ได้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 61 ที่นั่ง จากจำนวน 125 ที่นั่ง เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เขต 375 และแบบบัญชีรายชื่ออีก 125 ตามแนวคิดของคณะกรรมการชุดนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์
ดังนั้น หากนำคะแนนเดียวกันนี้ มาคิดตามหลักรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตามระบบบัตรใบเดียว พรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะมาด้วยการนำยอดผู้มาใช้สิทธิ์หารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ คือ 500 คน ซึ่งในปี 2554 เฉลี่ยแล้ว ส.ส. 1 คน จะต้องมีคะแนน 7 หมื่นคะแนน
ดังนั้นเมื่อพรรคเพื่อไทยได้ 204 เขต เอาคะแนนรวมกันแล้ว นำ 7 หมื่นไปหาร จะได้ประมาณ 187 ถึง 190 ที่นั่ง ทำให้ไม่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพราะคะแนนต่ำกว่า 204 คน ส.ส.เวลาที่เขาจะชนะกันคือ 3 หมื่น 5 พัน 4 หมื่น 5 หมื่นคะแนน แต่ตามระบบใหม่นั้น จะนำเขตที่แพ้ไปรวมให้กับเขตที่ชนะครบ 7 หมื่นคะแนนก่อน
นายจตุพร กล่าวว่า ปรากฏว่า คะแนนพรรคเพื่อไทย เมื่อนำคะแนนของเขตแพ้ไปเติมให้กับเขตที่ชนะ จะได้ไม่ถึง 204 ด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อได้ 204 เขตแล้ว จึงไม่เหลือบัญชีรายชื่อแม้แต่ตำแหน่งเดียว ซึ่งเดิมทีมีการคิดกันแต่เป็นการคิดที่ผิด ฝ่ายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  วางตัวบุคคลใน กปปส.ไปร่วม 5 พรรคการเมือง เพราะเข้าใจแบบของรัฐธรรมนูญปี 2560 ร่วมกันแพ้ แยกกันจึงจะชนะ แล้วไปรวมกันตอนปลาย แต่ตอนต้นต้องแยกกันเข้า หากร่วมกันเข้าคะแนนในเขตแพ้จะเป็นคะแนนที่เสียเปล่า เพราะต้องนำไปรวมให้กับเขตที่ชนะหรือที่เรียกว่าคะแนนตกน้ำ
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ทำไมคนสำคัญสำคัญในเวที กปปส. ถึงแยกไปอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในพลังประชารัฐ และมาอยู่ในพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่นายสุเทพเป็นแกนหลัก สายพลังงานเรื่องปิโตรเลียม  ไปอยู่ที่พรรคพลังธรรมใหม่ และสายศาสนาไปอยู่กับนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เสมือนการรุก 5 ทิศทางและมีความเข้าใจตรงกัน จึงไม่มีใครออกมาพูดว่าใครจะไปแย่งคะแนนให้กับใคร
“วันนี้หลายคนคิดไม่ทัน และมีความเข้าใจว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ประเด็นต่อมา แล้วนปช.จะทำอย่างไร ทุกฝ่ายต่างทราบดีว่าในแผ่นดินนี้ จะมีการชุมนุมแบบเดิมอีกต่อไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนเวทีไปสู้กันในสภา ส่วนตัวเคยยืนยันมาแล้วว่า จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีก ทั้งยังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี แต่ตนก็รู้ว่าปลายทาง หากยังเดินกันแบบเดิมคะแนนเสียงก็จะไม่ถึงครึ่ง”นายจตุพรกล่าว
และว่าเราจึงต้องดึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดออกไปจากสมอง เพราะทั้งเนื้อหาสาระและวิธีการนับคะแนนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หากเรามีเป้าหมายคือชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย เราต้องเข้าใจว่าเขาออกแบบมาเพื่อเล่นงานฝ่ายประชาธิปไตย ดังนั้นจะต้องวางแผนและแก้ไขไม่ให้ถูกจัดการได้ง่าย

ข่าวจาก แนวหน้า
Axact

Axact

Vestibulum bibendum felis sit amet dolor auctor molestie. In dignissim eget nibh id dapibus. Fusce et suscipit orci. Aliquam sit amet urna lorem. Duis eu imperdiet nunc, non imperdiet libero.

Post A Comment: