ศาลในนครย่างกุ้งตัดสินจำคุกนักข่าวรอยเตอร์ชาวเมียนมา 2 คน คนละ 7 ปี จากความผิดฐานละเมิดกฎหมายความลับทางราชการ ทั้งคู่ยืนยันความบริสุทธิ์อ้างโดนตำรวจจัดฉากจับกุมระหว่างการสืบค้นเหตุการณ์ฆ่าหมู่ชาวโรฮีนจารัฐยะไข่ ทั่วโลกรุมประณาม ยูเอ็นจี้ปล่อยตัวทันที
เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2561 ผู้พิพากษาเย ลวิน แห่งศาลแขวงของนครย่างกุ้ง มีคำพิพากษาว่า วา โลน อายุ 32 ปี และจ่อ โซ อู อายุ 28 ปี มีความผิดฐานฝ่าฝืนกฎหมายความลับของทางราชการ มาตรา 3.1 ซี และตัดสินจำคุกจำเลยทั้งสอง รายละ 7 ปี โดยโทษจำคุกจะหักจำนวนวันที่ทั้งคู่โดนคุมขังตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2561 และจำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลระดับภาคและศาลฎีกาได้
นักข่าวรอยเตอร์ชาวเมียนมา 2 รายนี้ปฏิเสธความผิด โดยให้การต่อศาลว่า พวกเขาโดนจัดฉากจับกุมเพราะการสืบค้นเหตุการณ์ฆ่าชาวมุสลิมโรฮีนจา 10 คนในหมู่บ้านอินดิน รัฐยะไข่ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทั้งคู่อ้างว่าไปที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้งเพื่อรับประทานอาหารค่ำตามคำเชิญของตำรวจ 2 นาย จากนั้นก็ได้รับมอบเอกสารเหล่านี้ แต่เมื่อพวกเขาออกจากร้านอาหารก็โดนตำรวจเข้าจับกุมทันที
ตำรวจนายหนึ่งเคยให้การในฐานะพยานว่า การพบกันที่ร้านอาหารนั้นเป็นการจัดฉากวางกับดักนักข่าวคู่นี้ เพื่อขัดขวางหรือลงโทษที่พวกเขารายงานข่าวการฆ่าหมู่ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่
รายงานรอยเตอร์กล่าวว่า ผู้พิพากษาใช้เวลาอ่านสำนวนคำให้การฉบับย่อของพยานเป็นเวลาราว 1 ชั่วโมงก่อนจะมีคำพิพากษาว่า "เอกสารลับ" ที่พบอยู่กับจำเลยทั้งสองนั้นเป็นประโยชน์ต่อรัฐข้าศึกศัตรูและองค์กรก่อการร้าย เอกสารที่ทั้งคู่ครอบครองไว้และที่พบในโทรศัพท์ของพวกเขานั้นไม่ใช่ข้อมูลของสาธารณะ
ระหว่างที่ผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินนั้น นักข่าวหลายคนจดบันทึกทั้งน้ำตา ส่วนนางชิต ซู วิน ภรรยายของจ่อ โซ อู ร้องไห้โฮหลังคำตัดสิน คนในครอบครัวต้องช่วยพยุงเธอตอนออกจากศาล
เมื่อถูกนำตัวออกจากศาล จ่อ โซ อู กล่าวกับกองทัพนักข่าวที่รอด้านนอกว่า เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และพวกเขาจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพต่อไป "สิ่งที่ผมอยากบอกต่อรัฐบาลนี้คือ คุณจับพวกเราขังคุกได้ แต่อย่าได้ปิดหูปิดตาประชาชน" ด้านวา โลน ได้จับมือกับผู้สนับสนุนหลายคนและบอกพวกเขาว่าไม่ต้องเป็นห่วง "เรารู้ว่าเราทำอะไรลงไป เรารู้ว่าเราไม่ได้ทำผิด เราไม่กลัว เราเชื่อในความยุติธรรม, ประชาธิปไตย และเสรีภาพ" เขากล่าว
กลุ่มปกป้องเสรีภาพสื่อ, องค์การสหประชาชาติ, สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ, แคนาดา และออสเตรเลีย ต่างเรียกร้องพวกเขาพ้นจากข้อกล่าวหา
คำตัดสินคดีที่ได้รับการจับตามองจากทั่วโลกในครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงขององค์การสหประชาชาติเพิ่งออกรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า กองทัพเมียนมาและพวกผู้บัญชาการทหาร ซึ่งรวมถึงพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รณรงค์ "ล้างเผ่าพันธุ์" และ "ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศนำตัวพวกเขามาดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ
รายงานนี้ยังโจมตีนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมาโดยพฤตินัยด้วยว่า ไม่ใช้อำนาจทางศีลธรรมที่มีในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อชนกลุ่มน้อยที่มีสถานะไร้รัฐเหล่านี้"
ด้านมิเชล บาชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติคนใหม่ ออกแถลงการณ์ที่นครเจนีวา ว่าเธอ "ช็อก" การพิจารณาคดีนี่้เป็นการล้อเลียนความยุติธรรม และขอเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักข่าวทั้งสองโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
รัฐบาลอังกฤษก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งคู่ "ทันที" เช่นกัน โดยโฆษกของนายกฯ เทเรซา เมย์ กล่าวว่า อังกฤษผิดหวังอย่างที่สุดกับคำตัดสินและคำพิพากษาลงโทษ ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสประณามว่าเป็นการทำร้ายเสรีภาพสื่อและหลักนิติธรรมในประเทศนี้อย่างร้ายแรง ฝรั่งเศสเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขาและขอให้เมียนมาเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงอนุญาตให้สื่อเข้ารัฐยะไข่ได้
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกแถลงการณ์ที่กรุงปารีส ประณามคำตัดสินจำคุกนักข่าว 2 คนนี้ว่าเป็นวันอันมืดมนสำหรับเสรีภาพสื่อในเมียนมา คำตัดสินอันเป็นบทสรุปจากการพิจารณาคดีหลอกลวงนี้ก่อให้เกิดคำถามอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของเมียนมา
ขณะที่แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในแถลงการณ์ว่า คำพิพากษานี้เป็นการส่งคำเตือนหนักแน่นถึงนักข่าวคนอื่นๆ ในประเทศนี้ว่าหากยังจับตาการละเมิดของกองทัพอย่างใกล้ชิดก็จะเจอกับผลลัพธ์รุนแรงเช่นนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเซ็นเซอร์ผ่านการสร้างความหวาดกลัว.
ข่าวจาก ไทยโพสต์
Post A Comment: