24 ก.ย.61- แม้คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) ซื้อที่ดินรัชดาจำนวน 33 ไร่78 ตารางวา ในราคา 772 ล้านบาทจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2561 กำลังจะสิ้นสุดอายุความ ในวันที่ 21 ตุลาคม 2561นี้ ก็ตาม แต่ไม่ทำให้นายทักษิณสามารถเดินทางกลับประเทศไทยโดยไม่ถูกจับกุมได้ เพราะยังคงมีอีกหลายคดีที่รอการพิจารณาคดีของศาล
ปัจจุบันนายทักษิณถูกออกหมายจับทั้งสิ้น 4 หมายจับ ประกอบด้วย
1. คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ กรณีฟ้องว่านายทักษิณ อนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของเอ็กซิมแบงก์ให้กับรัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม ที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูล ชินวัตร
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 51 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งให้ออกหมายจับเพื่อให้ติดตามตัวมาในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเนื่องจากนายทักษิณไม่มาศาลและหนีคดีไป และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว
2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว( หวยบนดิน )
คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 26 ก.ย.51 นายทักษิณ ไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ และให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของนายทักษิณ เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้นำตัวมาพิจารณาคดี
3.คดีแปลงสัมปทานมือถือ–ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต
คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 15 ต.ค.51 และศาลได้ออกหมายจับนายทักษิณ จำเลย เนื่องจากไม่มาศาล และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้เป็นการชั่วคราว
4.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้กว่า 9,000 ล้านบาท ให้กับกฤษดามหานคร
คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกหมายจับนายทักษิณ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2555 เนื่องจากไม่มาศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรก
ต่อมาวันที่ 20 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมานี้เอง ศาลได้ออกหมายจับในคดีนี้อีกใบเนื่องจากนายทักษิณไม่มาศาล
ส่วนคดี คดีซื้อขายที่ดินรัชดาฯที่ออกหมายจับเมื่อ 21 ต.ค. 2551 มีอายุความตามหมายจับ 10 ปี ครบกำหนดตุลาคมนี้ เช่นเดียวกับคดีทีพีไอ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ยกฟ้องนายทักษิณไปแล้ว ทำให้หมายจับสิ้นสุดลง
ทั้งนี้การที่พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่ยกร่างขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบังคับใช้ไปแล้ว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ทำให้นายทักษิณอาจต้องโทษจำคุกอีกครั้ง การกลับประเทศไทยเพราะอายุความสิ้นสุดลงนั้น อาจต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าสิบปี
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายใน
กำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ
กำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ
(1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
(2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
(5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
ก่อนนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาคดีกู้กรุงไทย จำคุก นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3, ร.ท. สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานบอร์ดบริหาร ธนาคารกรุงไทยในขณะนั้น คนละ 18 ปี รวมทั้ง ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยกับพวกร่วมกันชดใช้เงินคืนให้กับธนาคารกรุงไทยด้วย.
ข่าวจาก ไทยโพสต์
Post A Comment: