ไฮเนคกี’ เจ้าพ่อฟาสต์ฟู้ด สำนึกบุญคุณไทย ทิ้งสัญชาติอเมริกันปั้นธุรกิจจนรวยแถวหน้าในไทย


วิลเลียม ไฮเนคกี นักธุรกิจวัย 69 ปี ผู้ก่อตั้งเครือบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กลุ่มบริษัทที่มีแบรนด์ธุรกิจด้านการบริการหลากหลายประเภท ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศ เผยภูมิใจที่เป็นบริษัทไทย หลังจากทิ้งสัญชาติอเมริกันเมื่อหลายปีก่อน 
 
แวดวงธุรกิจบริการในไทยน่าจะคุ้นเคยกับชื่อนักธุรกิจเจ้าพ่อเครือบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีแบรนด์การบริการในมือแพร่หลายเป็นที่รู้จักอย่าง สเวนเซ่น, ซิซซ์เลอร์, แดรี ควีน, เดอะ พิซซ่า คอมปานี, เบอร์เกอร์ คิง ลิสต์รายชื่อแบรนด์สามารถไล่เรียงได้อีกยาวนอกเหนือจากธุรกิจร้านอาหารยังไปถึงธุรกิจสายโรงแรม และแฟชั่น จนได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มบริษัทด้านการบริการขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 
 
เป็นที่รู้กันว่าไฮเนคกี พักอาศัยในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปีแล้ว ระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ในซีรีส์ชื่อ “Managing Asia” ตอนล่าสุดในช่วงปลายปี 2018 วิลเลียม ไฮเนคกี หรือที่สื่อมักเรียกกันอีกชื่อว่า “บิลล์ ไฮเนคกี” เล่าความหลังย้อนกลับไปช่วงที่เขาเดินเข้าที่ทำการด้านการทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯเพื่อสละสัญชาติอเมริกัน ซึ่งแม้แต่ที่ปรึกษายังทักให้คิดให้ดีอีกรอบ และการตัดสินใจของไฮเนคกี พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจที่โดดเด่นด้านความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้มีส่วนช่วยให้เขากลายมาเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของประเทศ
 
“ผมยังจำได้ดีว่าที่ปรึกษาพูดกับผมว่า ‘ผมว่าคุณควรคิดให้ดีก่อน ผมไม่เคยได้ยินว่ามีใครต้องการสละสัญชาติอเมริกันมาก่อน’... ผมบอกว่า ‘ผมตัดสินใจมาแล้ว และคุณน่าจะรู้ว่าผมไม่อยากรออีกแล้ว’” ไฮเนคกี กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อดัง


 
การตัดสินใจสละสัญชาติอเมริกันส่งผลให้วิลเลียม ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และเสียสิทธิเดินทางเข้าประเทศแบบไม่มีเงื่อนไข แต่สิ่งที่เขาได้คือ การยกเว้นเสียภาษีในสหรัฐอเมริกา
 
“ผมหวังว่าเพื่อนชาวไทยของผมจะภูมิใจที่ที่ผมเป็นคนไทย ถึงแม้ว่าผมจะเป็นคนไทยจากสิทธิในความเป็นพลเมืองก็ตาม” 
 
ไฮเนคกี มีถิ่นกำเนิดที่รัฐเวอร์จิเนีย เขาเดินทางติดตามครอบครัวมาที่เมืองไทยในขณะที่อายุ 14 ปี เรียกได้ว่าเป็นคนอเมริกันเวอร์ชั่น “เสื่อผืนหมอนใบ” เขาก่อตั้งบริษัทครั้งแรกหลังเรียนจบ ช่วงนั้นเขาอยู่ในวัย 17 ปีเท่านั้น เป็นบริษัทรับจ้างทำความสะอาด โดยวิลเลียม กู้เงินมาลงทุนซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาด และลงโฆษณาทางวิทยุ 
 
เขาตั้งบริษัท ไมเนอร์ โฮลดิงส์ (ไทย) ในปี 1970 และธุรกิจอาหารแรกเร่ิมที่ประเดิมคือมิสเตอร์​โดนัท ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมอาหารตะวันตกที่เขานำเข้ามาเป็นกลุ่มแรกๆ เขามองต่างจากคนทั่วไปที่คิดว่าคนไทยไม่มีทางกินพิซซ่าหรือกินอาหารแบบอเมริกัน แต่ปี 1980 เขาเปิด “พิซซ่า ฮัท” สาขาแรกที่พัทยา ภายใน 18 ปีหลังจากเปิดสาขาแรก “พิซซ่า ฮัท” ขยายสาขาไปแตะหลัก 200 แห่ง (ไทยรัฐ, 2012)
 
หนุ่มจากสหรัฐฯพัฒนาธุรกิจที่ก่อตั้งด้วยมือตัวเองในช่วงวัย 20s จนถึง 30s เครือบริษัทของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ปฏิเสธได้ยากว่า สถานะในปัจจุบันกลายเป็นเครือบริษัทด้านการบริการติดอันดับต้นๆ ในภูมิภาค นิตยสารฟอร์บส จัดให้วิลเลียม เป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในไทยในอันดับ 17 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักธุรกิจวัย 69 ปียอมรับว่า เป็นหนี้บุญคุณประเทศที่อ้าแขนรับเขา ให้โอกาสทำธุรกิจในไทย
 
วิลเลียม ไม่แตกต่างจากนักธุรกิจรายอื่นที่ต้องมีเรื่องราวประสบการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจจากช่วงเวลาตกต่ำ เขาไม่ใช่นักธุรกิจที่เดินผ่านเส้นทางการลงทุนด้วยกลีบกุหลาบ แม้ว่าเขาเข้ามาลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจในไทยมีแนวโน้มเติบโต ธุรกิจของเขาเผชิญวิกฤตการเงินเอเชียจนเกือบล้มละลาย โรงแรมอนันตราของไฮเนคกี เผชิญวิกฤตในช่วงสึนามิในปี 1997 เขาเล่าว่า โรงแรมที่จังหวัดพังงาพังพินาศ มีพนักงานและลูกค้าเสียชีวิตจำนวนมาก สิ่งที่ไฮเนคกี เห็นคือพลังความเข้มแข็งของคนไทยที่ร่วมกันลุกขึ้นยืนหลังจากล้มลง และกลับมาสู้ใหม่
 
บทความชื่อ จุดอ่อนของเถ้าแก่ โดยธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ในนิตยสาร GM Biz ระบุอีกหนึ่งเคล็ดลับของเจ้าพ่ออาณาจักรฟาสต์ฟู้ดอันดับหนึ่งของเอเชียว่า ชอบอยู่กับคนที่ฉลาดกว่าเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เพราะเป็นบุคลิกที่แตกต่างจากเถ้าแก่ทั่วๆ ไปที่มักจะไม่ชอบอยู่กับคนที่ฉลาดกว่า เขาบอกว่า ชอบจ้างคนที่ฉลาดกว่าเขาในปริมณฑล (Area) ที่สำคัญ โดยมองว่าถ้าจะสร้างองค์กรธุรกิจให้เข้มแข็ง จะต้องมีคนที่ฉลาดกว่า เพราะถึงแม้ว่าเถ้าแก่จะฉลาด แต่เถ้าแก่ก็ฉลาดเพียงไม่กี่ด้านถึงคนที่จะเป็นพหูสูต ซึ่งรู้ทุกเรื่องก็ไม่มีทางที่จะรู้ในเชิงลึก ‘รู้รอบ รู้ลึก’
 
ถ้ารู้ทุกเรื่องในเชิงลึก นั่นคือ ‘ปราชญ์’ ซึ่งปราชญ์ก็ไม่ควรจะมาบริหารธุรกิจ เพราะจะไม่มีเวลามาแสวงหาโอกาส ไม่มีเวลามาใส่ใจ มาบริหารในเรื่องการจัดการคนองค์กรดังๆ ของโลกอย่างองค์กร ‘ไมโคซอฟต์' ในระยะหลังก็เสีย ‘คนที่เก่ง’ ไปเยอะ เพราะว่าองค์กรเติบโตเต็มที่ ไม่มีอะไรให้เล่น
 
ถ้าถามว่า ไมโครซอฟต์ เสียคนไปให้กับองค์กรไหน คำตอบก็คือเสียไปให้กับองค์กรรุ่นเยาว์อย่างกูเกิล หรือคำถามว่าทำไมองค์กรอย่าง แอปเปิล จึงมีแรงดึงดูดให้คนจำนวนมากมาทำงาน เพราะว่าคนเหล่านั้นศรัทธาในบุคลากรอย่าง สตีฟ จ๊อบส์ เขาเชื่อว่าเข้าไปแล้วจะได้มีโอกาสแสดงฝีมือ ได้แสดงออกถึงความคิดที่สร้างสรรค์
 
นักธุรกิจคนดังแสดงความคิดเห็นว่า องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จตลอดเส้นทางธุรกิจ 52 ปีคือความมุ่งมั่น และองค์ประกอบนี้เป็นสิ่งที่เขาใช้ในการพิจารณาคุณสมบัติสำหรับการคัดเลือกทีมงานซึ่งในปัจจุบัน เขามีลูกจ้างในเครือรวมทั้งหมดเกือบ 1 แสนราย
 
อ้างอิง 

https://www.thairath.co.th/content/286244

 ริงโก้

ข่าวจาก GMLive
Axact

Axact

Vestibulum bibendum felis sit amet dolor auctor molestie. In dignissim eget nibh id dapibus. Fusce et suscipit orci. Aliquam sit amet urna lorem. Duis eu imperdiet nunc, non imperdiet libero.

Post A Comment: