มีรายงานว่าอองซานซูจีถูกเรียกคืน “รางวัลเสรีภาพแห่งเอดินบะระ”(Freedom of Edinburgh) กลายเป็นคนที่ 2 ในรอบ 200 ปีที่โดนริบ ประธานคณะกรรมการชี้ เหตุไม่ช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในพม่าประเทศบ้านเกิด เป็นการถูกเรียกคืนรางวัลทรงเกียรติครั้ง 7 ในรอบปีที่ผ่านมา ตามหลังตัวอย่าง อ๊อกซฟอร์ด กลาสโกว์ นิวคาสเซิล
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้(22 ส.ค)ว่า ทั้งนี้อองซานซูจี ผู้นำประชาธิปไตยในพม่ารับรางวัลเสรีภาพแห่งเอดินบะระ(Freedom of Edinburgh)เมื่อปี 2005 เพื่อเป็นเกียรติแก่ความพยายามของเธอในด้านสันติภาพและความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย ซึ่งในเวลานั้นซูจีต้องถูกกักตัวแต่ภายในบ้านพัก
โดยเมื่อครั้งการมอบรางวัล ลอร์ดโพรโวสต์แห่งเอดินบะระ(Lord Provost of Edinburgh)ได้เปรียบเทียบซูจีกับอดีตผู้นำแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลา โดยกล่าวว่า “เธอเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านอย่างสันติภายใต้การกดขี่”
“และการมอบความเป็นพลเมืองแห่งเอดินบะระถือเป็นการยกย่องต่อการทำงานของเธอที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน”
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า สื่ออังกฤษชี้ ซูจีที่ปัจจุบันอยู่ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า ปฎิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะกล่าวประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และทำให้ต้องเห็นชาวโรฮิงญาร่วม 700,000 คนหลบหนีข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ
รัฐบาลทหารพม่าเริ่มต้นการกวาดล้างมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา หมู่บ้านของชนกลุ่มน้อยถูกเผา ส่วนผู้หญิงถูกข่มขืนภายใต้เงื้อมมือของบรรดากองกำลังทหารพม่า
องค์การสหประชาชาติถึงกับออกมาประกาศว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาเทียบเท่ากับ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
แฟรงก์ รอส(Frank Ross) ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะ “ลอร์ดลอร์ดโพรโวสต์” ซึ่งมีฐานะเป็นประธานเคาน์ซิลของเมืองได้ยื่นหนังสือถึงอองซานซูจีในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เรียกร้องสัญลักษณ์ความกล้าหาญทางศีลธรรมและความทรงอิทธิพลจากเธอ ให้ช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาสามารถเดินทางกลับรัฐยะไข่ได้โดยสวัสดิภาพ
แต่ทว่ากลับไม่พบว่าซูจีตอบกลับมา ทำให้รอสในวันพฤหัสบดีล่าสุด(16)ได้ประชุมเคาน์ซิล และมีมติเรียกคืนรางวัลเสรีภาพแห่งเอดินบะระจากซูจี และมีผลบังคับใช้ในทันที
เดอะการ์เดียนชี้ว่า การประกาศริบคืนรางวัลเสรีภาพแห่งเอดินบะระครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 200 ปีของเมืองตามหลังเมื่อครั้งเคยประกาศเรียกคืนรางวัลในศตวรรษที่ 19 เมื่อปี 1890 จากชาร์ลส์ พาร์เนล( Charles Parnell) นักชาตินิยมไอริชที่มีปัญหาจากเรื่องอื้อฉาวในเวลานั้น
ข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
Post A Comment: