Technology- 4เหตุผลที่ยานสำรวจดวงอาทิตย์"พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ" (Parker Solar Probe) ไม่มอดไหม้

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา กำลังเตรียมส่งยานสำรวจ "พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ" (Parker Solar Probe) ฝ่าอุณหภูมิร้อนแรงเข้าไปในชั้นบรรยากาศส่วนบนของดวงอาทิตย์ เพื่อศึกษาปรากฏการณ์เรื่องลมสุริยะในเดือนหน้านี้
ยานสำรวจดังกล่าวจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ภายในระยะห่างราว 6.4 ล้านกิโลเมตรจากพื้นผิว ซึ่งเป็นส่วนของโคโรนา (Corona) หรือเปลวพลาสมาร้อนแรงของอนุภาคพลังงานสูงที่บริเวณรอบนอกของดวงอาทิตย์ โดยอุณหภูมิในส่วนนี้สูงได้ถึงกว่า 1 ล้านองศาเซลเซียส ไปจนถึงเกือบ 10 ล้านองศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าร้อนกว่าด้านในของดวงอาทิตย์เสียอีก
อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลว่ายานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ จะถูกความร้อนมหาศาลและรังสีที่เจิดจ้าเผาไหม้ทำลายไป แม้อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จะสัมผัสกับยานได้ก็ตาม เพราะมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์บางประการและมีเทคโนโลยีป้องกันความร้อนที่ตระเตรียมไว้อย่างเพียบพร้อมดังนี้
1. อุณหภูมิสูงไม่ได้ทำให้เกิดความร้อนสูงเสมอไป
ที่จริงแล้วอุณหภูมิ (Temperature) คือสิ่งที่บ่งบอกว่าอนุภาคเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าใด ในขณะที่ความร้อน (Heat) นั้นคือความสามารถในการถ่ายทอดพลังงานของอนุภาค ในบางสภาวะที่อนุภาคอุณหภูมิสูงมีความหนาแน่นต่ำ เช่นในห้วงอวกาศหรือชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ จะไม่เกิดการถ่ายทอดความร้อนให้วัตถุอย่างยานอวกาศมากนัก
ลองนึกภาพขณะเอามือยื่นเข้าไปในเตาอบร้อน เปรียบเทียบกับการเอามือจุ่มลงไปในน้ำเดือด เราจะทนต่อไอความร้อนในเตาอบได้มากกว่า เช่นเดียวกับเกราะป้องกันความร้อนของยานสำรวจซึ่งจะมีอุณหภูมิราว 1,400 องศาเซลเซียสเท่านั้น ขณะที่ผ่านเข้าไปในบรรยากาศชั้นโคโรนาซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า 1 ล้านองศาเซลเซียส

2. เกราะป้องกันความร้อน TPS
ระบบป้องกันความร้อน Thermal Protection System หรือ TPS หนา 4.5 นิ้ว ทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ในรูปของแผ่นโฟมน้ำหนักเบา จะทำให้ด้านในของยานอวกาศมีอุณหภูมิเพียง 30 องศาเซลเซียสเท่านั้น ส่วนพื้นผิวด้านนอกที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์มีการเคลือบเซรามิกสีขาวเพื่อสะท้อนความร้อนออกไปให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้เกราะนี้ทนความร้อนได้ถึง 1,650 องศาเซลเซียส
3. อุปกรณ์นอกเกราะป้องกันความร้อนทำจากวัสดุจุดหลอมเหลวสูง
อุปกรณ์ของยานบางส่วนเช่นสายเคเบิลและ "ถ้วยฟาราเดย์" (Faraday cup) ซึ่งใช้ตรวจวัดเก็บข้อมูลประจุไฟฟ้าและกระแสอิเล็กตรอนในลมสุริยะนั้น ตั้งอยู่ภายนอกเกราะป้องกันความร้อน ทำให้ต้องใช้วัสดุที่มีจุดหลอมเหลวสูงสร้างอุปกรณ์เหล่านี้ โดยมีการใช้ผลึกของแซฟไฟร์ (Sapphire) ทำปลอกหุ้มสายเคเบิล และใช้โลหะผสมโมลิบดีนัมอัลลอย (Molybdenum Alloys ) รวมทั้งทังสเตนซึ่งมีจุดหลอมเหลวที่ 3,422 องศาเซลเซียส ในการผลิตถ้วยฟาราเดย์สำหรับภารกิจนี้โดยเฉพาะ

4. ระบบทำความเย็นที่ทรงพลัง
มีการติดตั้งระบบทำความเย็นที่สามารถทำให้ห้องรับแขกขนาดกลางเย็นยะเยือกได้ โดยใช้น้ำปราศจากประจุไฟฟ้า (Deionized water) เป็นสารหล่อเย็น เพราะทนต่ออุณหภูมิที่ผันแปรไปอย่างมากระหว่าง 10-125 องศาเซลเซียส ตลอดการเดินทางสู่ดวงอาทิตย์ได้ ทั้งยังมีการอัดแรงดันเพื่อให้น้ำมีจุดเดือดสูงขึ้นเป็น 125 องศาเซลเซียสด้วย
ทั้งนี้ นาซาตั้งชื่อยานสำรวจดวงอาทิตย์พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ เพื่อเป็นเกียรติแก่ยูจีน พาร์กเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านลมสุริยะ โดยมีกำหนดจะส่งยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วยจรวดเดลตา 4 ที่แหลมคานาเวอรัลในศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์เป็นเวลา 7 ปี

ข่าวจาก บีบีซีไทย
Axact

Axact

Vestibulum bibendum felis sit amet dolor auctor molestie. In dignissim eget nibh id dapibus. Fusce et suscipit orci. Aliquam sit amet urna lorem. Duis eu imperdiet nunc, non imperdiet libero.

Post A Comment: