แม้จะทราบกันดีว่าแสงสีฟ้า (Blue light) จากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งผลเสียต่อสายตาของคนเราได้ แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น โดยพวกเขาชี้ว่าสารเคมีสำคัญในดวงตาทำปฏิกิริยากับแสงสีฟ้าจนเกิดเป็นสารพิษทำลายจอตาขึ้น
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโทเลโดของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวลงในวารสาร Scientific Reports โดยระบุว่าการจ้องมองแสงสีฟ้าซึ่งเป็นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นและมีพลังงานสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้ดวงตาสร้างสารพิษขึ้นในเซลล์รับแสง จนเกิดอาการจอประสาทตาเสื่อมได้เร็วก่อนวัยอันควร
ผศ.ดร. อจิต กรุณารัตเน ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "ในแต่ละวันดวงตาได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่กระจกตาและเลนส์ตาของเราไม่สามารถจะป้องกันหรือสะท้อนแสงสีฟ้าออกไปได้"
ด้วยเหตุนี้ สารเคมีช่วยการมองเห็นในจอตาที่เรียกว่าเรตินอล (Retinal) จึงทำปฏิกิริยากับแสงสีฟ้า ทำให้เกิดโมเลกุลมีพิษทำลายเยื่อหุ้มเซลล์รับแสงจนเซลล์ตายลงในที่สุด ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรเพราะจอตาไม่สามารถส่งสัญญาณสื่อประสาทไปยังสมองได้
นักวิจัยยังได้ทดลองฉายแสงสีฟ้าไปยังเซลล์ชนิดอื่น ๆ ที่มีสารเรตินอลอยู่ เช่นเซลล์หัวใจ เซลล์ประสาท หรือแม้แต่เซลล์มะเร็ง พบว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทำให้เซลล์ทุกชนิดตายลงได้ทั้งหมด
โรคจอตาเสื่อมหรือจอประสาทตาเสื่อม (Macular degeneration ) เป็นสาเหตุราวครึ่งหนึ่งของกรณีสูญเสียการมองเห็นที่พบทั้งหมด โดยส่วนใหญ่พบในผู้สูงวัยอายุ 50-70 ปีมากที่สุด
แม้โรคนี้จะไม่ทำให้ตาบอดสนิท แต่ก็สร้างปัญหาในการอ่านและการแยกแยะใบหน้าบุคคลอย่างมาก ทั้งยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลในปัจจุบัน
"เราหวังว่าการค้นพบในครั้งนี้ จะนำไปสู่การคิดค้นวิธีรักษาหรือวิธีชะลอการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้สำเร็จ เช่นอาจจะมีการคิดค้นยาหยอดตาชนิดใหม่ที่ยับยั้งการเกิดสารพิษในดวงตาได้" ผศ.ดร.กรุณารัตเน กล่าว
ทีมผู้วิจัยยังแนะนำให้คนทั่วไปปกป้องดวงตาจากแสงสีฟ้า ด้วยการสวมแว่นกันแดดที่ป้องกันได้ทั้งรังสียูวีและแสงสีฟ้าเมื่ออยู่กลางแจ้ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการจ้องมองจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ในที่มืด
ข่าวจาก บีบีซีไทย
Post A Comment: