การนอนแบบกินบ้านกินเมืองเป็นประจำ โดยหลับเกินคืนละ 8 ชั่วโมงตามคำแนะนำของแพทย์ อาจชี้ถึงความเสี่ยงที่บุคคลผู้นั้น มีโอกาสจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงกว่าผู้อื่น เนื่องมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) และโรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคีล (Keele University) ของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสารของสมาคมหัวใจอเมริกัน (Journal of the American Heart Association) โดยชี้ว่ารูปแบบการนอนที่ยาวนานผิดปกติในแต่ละคืน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ควรเฝ้าระวัง โดยแพทย์อาจต้องซักถามเรื่องชั่วโมงการนอนของคนไข้เอาไว้ประกอบการวินิจฉัยโรคด้วย
ผลการศึกษาดังกล่าวมาจากการวิเคราะห์งานวิจัยในอดีต 74 ชิ้น ซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างกว่า 3 ล้านคน ทำให้พบว่าในจำนวนนี้ผู้ที่นอนหลับ นานถึงคืนละ 10 ชั่วโมง มีแนวโน้มจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าผู้ที่นอนคืนละ 8 ชั่วโมงถึง 30%
ส่วนคนที่นอนหลับคืนละกว่า 10 ชั่วโมงขึ้นไป มีโอกาสจะเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกสูงกว่าถึง 56% และมีความเสี่ยงจะเสียชีวิต จากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนทั่วไปถึง 49%
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่าการนอนหลับไม่สนิทมีส่วนสัมพันธ์กับแนวโน้มที่จะเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease ) สูงขึ้นถึง 44% ด้วย
ดร. ชุน ชิง กวอก ผู้นำทีมวิจัยกล่าวว่า "นอกจากปัจจัยเรื่องสุขภาพร่างกายแล้ว รูปแบบการนอนหลับของคนเรายังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม จิตวิทยา สิ่งแวดล้อม ความจำเป็นในการทำงาน หรือพฤติกรรมของแต่ละคนด้วย ซึ่งอาจต้องนำมาพิจารณาเพิ่มเติมว่าเกี่ยวข้องกับรูปแบบการนอนหลับ ที่ผิดปกติหรือไม่"
ข่าวจาก บีบีซีไทย
Post A Comment: